เมื่อข้าพเจ้าเกษียณอายุราชการได้ตั้งใจไว้ว่า จะใช้เวลาสะสางตัวอย่างที่เก็บสะสมไว้จากที่ต่าง ๆ โดยจะค่อยๆ ทยอยทำไปเรื่อยๆสบายๆโดยไม่มีใครมาบีบบังคับให้ต้องส่งรายงานเมื่อนั่นเมื่อนี่ ตัวอย่าง เหล่านั้นมีค่ามาก เพราะปัจจุบันแหล่งที่เคยเก็บตัวอย่าง บางแห่งได้เปลี่ยน สภาพไปจนไม่หลงเหลือสภาพเดิมให้เห็นอีกต่อไป สถานที่เหล่านั้นกลายเป็นอดีตเหลือ แต่ความทรงจำ

ปี พ.ศ. 2544  มีอาจารย์ที่ภาควิชามาชวน ให้ไปร่วมในโครงการ อพ.สธ. หลังจากคิดทบทวน ไปมาหลายตลบจึงได้ตอบตกลง เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะได้ไปเก็บตัวอย่างในแหล่งที่ยังไม่เคยเก็บมาก่อน และในทะเลที่ลึกกว่าที่เคยเก็บในอดีต
 
       
   

เนื่องจากอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่มีความสามารถในการดำน้ำแบบ SCUBA ซึ่งต่างจากรุ่นเก่าที่ทำการเก็บตัวอย่างได้เฉพาะบริเวณชายฝั่งด้วยวิธีดำน้ำแบบ snorkeling โดยใช้หน้ากากและท่อหายใจเป็นอุปกรณ์ หลัก ตัวอย่างที่เก็บได้จึงจำกัดเฉพาะบริเวณชายฝั่ง ซึ่งลึก ไม่เกิน 3 เมตร และการออกเก็บตัวอย่างแต่ละครั้ง ต้องตรวจสอบตารางน้ำ โดยเลือกช่วงเวลาที่น้ำลงเพื่อ จะได้ ไม่ต้องดำน้ำลึกมาก นับว่าเป็นข้อจำกัดในการเก็บ ตัวอย่างประการหนึ่ง เมื่อรวบรวมผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการจาก คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาได้ประมาณ 10 คน  เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืช และสัตว์ในแนวปะการัง บริเวณเกาะต่างๆในน่านน้ำ ไทย ตามแผนปฏิบัติงานที่โครงการ อพ.สธ. และ หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) กองเรือยุทธการ กองทัพเรือได้กำหนดขึ้น และอำนวยความสะดวกด้านยานพาหนะที่ใช้ในการสำรวจแต่ละครั้ง ครั้งแรกที่เข้าร่วมโครงการเมื่อเดือนกันยายน 2544 ที่เกาะ แสมสาร ต่อมาเป็นที่เกาะคราม และเกาะอื่น ๆ ทั้งใน อ่าวไทย และทะเลอันดามัน
จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 6 ปีเต็มที่ได้ร่วมทำ การสำรวจกับโครงการทั้ง trip ปกติ และ trip พิเศษ รวม 35 ครั้ง ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเรื่อยมา ตามลำดับ ซึ่งจะขอนำมาเล่าสู่กันฟังเท่าที่จดจำได้

การสำรวจช่วงแรกๆที่เกาะคราม และเกาะ ใกล้เคียง ระหว่างปี 2544-2546
เกาะครามเป็นเกาะใหญ่เกาะหนึ่งในอ่าว สัตหีบ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยปฏิบัติการ ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) กองทัพเรือ เป็นเกาะที่มีเต่าทะเลขึ้นวางไข่ และไม่ถูกรบกวนจาก นักท่องเที่ยว จึงเป็นเกาะที่ค่อนข้างสมบูรณ์ด้วย ทรัพยากรธรรมชาติ จากการสำรวจบริเวณอ่าว และหาด ต่าง ๆ รอบเกาะครามเป็นเวลา 2 ปี พบสาหร่ายทะเลที่ สามารถจำแนกได้ 78 ชนิด เป็นชนิดที่เป็นรายงาน ครั้งแรก (new records) ของประเทศไทย 16 ชนิด และพบหญ้าทะเล 1 ชนิด ที่เกาะครามน้อย ซึ่งเป็นชนิด ที่เคยพบครั้งแรกที่เกาะกระดาด จังหวัดตราด เมื่อปี ค.ศ. 1990 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์กชื่อ Johannes Schmidt ที่ได้มาสำรวจพรรณพืชทั้งในทะเลและ บนบกที่เกาะช้างและเกาะใกล้เคียงในจังหวัดตราด จากการสำรวจในครั้งนั้น ได้พบหญ้าทะเลชนิดใหม่ ของโลก ที่เกาะกระดาดที่ระดับความลึก 5 fathoms  (ประมาณ 9 เมตร) โดย Ostenfeld ได้ตั้งชื่อว่า Halophila decipiens และรายงานไว้เมื่อปี ค.ศ. 1902 หญ้าทะเล ชนิดนี้มีรายงานจากหลายประเทศว่าเป็นหญ้าทะเล ที่มักพบขึ้นอยู่ในทะเลค่อนข้างลึก สำหรับที่เกาะ ครามน้อยพบบริเวณร่องน้ำที่ระดับความลึก 12 เมตร พบเพียงเล็กน้อย หญ้าทะเลชนิด Halophila decipiens เป็นชนิดที่ใบบางใส และมีขนละเอียด ๆ บนผิวใบ ขอบใบ และก้านใบ หญ้าทะเลชนิดนี้พบไม่มากและ ไม่บ่อยนัก อาจเนื่องจากขึ้นในน้ำค่อนข้างลึก ต่างจาก Halophila ovalis ซึ่งพบได้ทั่วไปในระดับน้ำตื้น ๆ และพบในปริมาณมาก เป็นอาหารหลักของพะยูน

เกาะกูด จังหวัดตราด  เดือนเมษายน 2545 และธันวาคม 2549
เกาะกูด เป็นเกาะใหญ่อันดับ 2 ของจังหวัด ตราดรองจากเกาะช้าง อยู่ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ติดชายแดนประเทศกัมพูชา บนเกาะกูดมีหน่วย ปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) อยู่ด้วย

ในการสำรวจเกาะกูดครั้งแรกเมื่อเดือน เมษายน 2545 คณะปฏิบัติงานได้อาศัยลานกว้างบน เขาซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการเป็นที่พักกางเต็นท์ มีลานจอด เฮลิคอปเตอร์เป็นที่ประชุมและนัดแนะแผนการปฏิบัติงาน เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นหน้าแล้ง น้ำจืดมีปริมาณ จำกัด พวกเราได้รับการขอร้องให้ใช้น้ำอย่างประหยัด หากหมดก็คือหมดไม่อาจหามาเติมได้ หลังจากเวลาผ่านไปเพียง 1 วัน ปรากฏว่าน้ำหมดไปครึ่งบ่อปูนที่เก็บ พักน้ำ เราจึงต้องระมัดระวังการใช้น้ำมากขึ้น บางวัน ล้างหน้าโดยใช้น้ำลูบหน้าพอให้เปียกเท่านั้น วันหนึ่ง โชคดีฝนตกพวกเรารีบหากระป๋อง กะละมัง ถัง อ่าง ทุกอย่างที่สามารถรองรับน้ำได้มารองรับน้ำฝนจากชายคา ถึงแม้น้ำจะเป็นสีเหมือนน้ำชาก็ยังดี เอาไว้ราดห้องน้ำ ได้  หลายคนถือโอกาสเล่นน้ำฝนไปด้วย
วันท้ายๆน้ำเหลือติดก้นบ่อ เวลาใช้ขันตักน้ำ ต้องชะโงกสุดตัว ถ้าไม่ระวังให้ดีหัวอาจทิ่มลงในบ่อได้ ดังนั้น พวกเราเมื่อเสร็จภารกิจก่อน กลับที่พักจึงถือ โอกาสแวะบ่อน้ำจืดของชาวบ้านอาบน้ำจืดกันอย่างหนำใจ แต่เมื่อนั่งเรือยางกลับถึงที่พักก็โดนน้ำทะเลเปียกเหมือนเดิม           บริเวณลานพักบนเกาะกูด มีต้นขนุนประหลาด อยู่ต้น หนึ่งออกลูกเป็นโทรศัพท์มือถือ สอบถามได้ความ ว่าจุดนั้นเป็นบริเวณที่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ต้นขนุนจึงเป็นจุดที่มีผู้แวะเวียนมา โทรศัพท์มิได้ขาด เจ้าหน้าที่ที่ประจำการบนนั้น จึงแขวนโทรศัพท์ไว้บน ต้นขนุนเพื่อ ความสะดวก

ในการสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2545 คณะดำน้ำแบบ SCUBA ได้เก็บตัวอย่างชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้เก็บเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นพืชหรือสัตว์ คล้ายพืชตรง ที่มีกิ่งก้านแตกแขนง ด้านหนึ่งสีแดงคล้ำ อีกด้านสีขาว หม่น  คล้ายสัตว์ตรงที่มีลักษณะนิ่ม ๆ ลื่น ๆ คล้าย ปะการังอ่อน  ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน  ภายหลังนำชิ้น ส่วนมา ตรวจสอบภายใต้กล้องจุลทรรศน์ จึงแน่ใจว่า เป็นพืช  แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นสกุลอะไรเพราะไม่เคย มีในตำราที่มีอยู่  จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสไปประชุมเชิง ปฏิบัติการ (workshop) ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ได้นำตัวอย่างนี้ไปด้วย เพื่อสอบถามจากผู้รู้  โชคดีที่ได้พบกับ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันซึ่งเป็นผู้พบสาหร่าย ชนิดนี้เป็นคนแรกและได้ตั้งชื่อสกุลว่า Rhodogorgon เนื่องจากมีลักษณะคล้ายปะการังอ่อน (gorgonian) สาหร่ายชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhodogorgon ramosissima

การสำรวจครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่มีพายุ คลื่น ลมแรง  เก็บตัวอย่างได้ไม่มากนัก  การนั่งเรือยางฝ่าคลื่น ต้องยึดเชือกข้างเรือให้แน่น ประกอบกับโดนคลื่น กระแทก ทำเอาซี่โครงรวน ต้องไปให้หมอจัดกระดูก กันใหม่ ระบมไปหลายวัน
ที่เกาะกูดพบแหล่งหญ้าทะเล 2 แห่ง ที่อ่าวง่าม โข่ง และอ่าวกล้วย เป็นหญ้าทะเลชนิด Cymodocea serrulata และ Halodule uninervis

เกาะช้าง และเกาะใกล้เคียง จังหวัดตราด  เดือน มีนาคม  2546
เกาะช้าง เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของจังหวัดตราด และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากเกาะ ภูเก็ต  ภูมิประเทศเป็นภูเขาเกือบทั้งเกาะ พื้นที่ราบมีน้อย  ชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะมีลักษณะเป็นหินสูงชัน ดิ่งลงสู่ทะเล ส่วนด้านอื่น ๆ ชายฝั่งจะลาด มีทั้ง หาดทรายและหาดหิน  ส่วนด้านตะวันออกและบริเวณ ปากแม่น้ำ เป็นโคลนและป่าชายเลน

เคยมีการสำรวจพรรณพืชบริเวณเกาะช้าง และ เกาะใกล้เคียง เมื่อ 107 ปีที่ผ่านมาโดยนักพฤกษศาสตร์ ชาวเดนมาร์กชื่อ Johannes Schmidt ตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1899 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1900 รวมเวลา 3 เดือน ได้พรรณพืชทั้งหมด 1,513 ชนิด มีทั้งพืชชั้นต่ำจนถึงพืชชั้นสูง ได้แก่ สาหร่าย เห็ดรา ไลเคนส์ มอส เฟิร์น และพืชดอก ในส่วนของสาหร่ายมีทั้งสาหร่ายน้ำจืด และสาหร่ายทะเล และแพลงก์ตอนพืช รวม 669 ชนิด เป็นชนิดใหม่ (new species) 38 ชนิด และหญ้าทะเล 3 ชนิด โดยมี Halophila decipiens เป็นหญ้าทะเล ชนิดใหม่
จากรายงานของ Schmidt ในครั้งนั้น ได้กล่าว ถึงความอุดมสมบูรณ์ของเกาะช้างว่า ภูเขาบนเกาะช้าง ปกคลุมด้วยป่าทึบจากเชิงเขาถึงยอดเขา ป่าเหล่านี้ถูก ทำลายบ้างเล็กน้อยจากชุมชนชาวไทยและจีนที่อาศัยอยู่ เป็นหย่อม ๆ บริเวณชายฝั่งโดยเฉพาะปากคลอง  หมู่บ้านขนาดใหญ่อยู่ที่คลองสลักเพชร นอกนั้นเป็น หมู่บ้าน เล็กๆ ที่คลองสน คลองพร้าวและอ่าวสวรรค์  ในฤดูฝน มีการปลูกข้าวบริเวณที่ราบ และปลูกพืชผัก สับปะรด กล้วย มะม่วง และผลไม้อื่น ๆ นอกจากนี้ ยังพบแปลงปลูกพริกไทยอยู่ประปราย  สรุปได้ว่าการใช้ พื้นที่เพาะปลูกบนเกาะช้างในสมัยนั้นยังมีไม่มากนัก

ปัจจุบัน เกาะช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีรีสอร์ท และโรงแรมขนาดใหญ่มากมาย   สภาพแวดล้อมเปลี่ยน แปลงไปมาก   จากการสำรวจในครั้งนี้โดยใช้เวลาเพียง 4 วัน พบสาหร่ายทะเล 43 ชนิดและหญ้าทะเล 2 ชนิด  เมื่อเทียบกับผลการสำรวจของ Schmidt เมื่อ 100 ปีเศษที่ผ่านมา พบสาหร่ายทะเล 79 ชนิด และหญ้าทะเล 3 ชนิด มีสาหร่ายทะเลเพียง 9 ชนิดที่พบในการสำรวจ ทั้ง 2 ครั้ง ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจำนวนชนิดของ สาหร่ายลดลง แต่ต้องดูจากปัจจัยที่แตกต่างกันหลาย อย่าง อาทิ ระยะเวลาที่ใช้ในการสำรวจและช่วงฤดูกาล  Schmidt ใช้เวลาสำรวจนาน 3 เดือนและเก็บตัวอย่าง จากหลายเกาะ ที่มิใช่เฉพาะหมู่เกาะช้างเท่านั้น แต่ยัง เก็บตัวอย่าง จากเกาะจิก และอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัด จันทบุรี และเกาะสะเก็ด จังหวัดระยอง อีกด้วย

เกาะกาแบง และเกาะใกล้เคียง จังหวัดสตูล เดือนเมษายน 2546
เกาะกาแบง และเกาะใกล้เคียง ได้แก่เกาะ บุโหลนเล  บุโหลนไม้ไผ่  บุโหลนดวน  เกาะเขาใหญ่  และเกาะลินดี  เกาะเหล่านี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะเภตรา จังหวัดสตูล

การเดินทางไปยังเกาะกาแบงโดยรถบัสของทหารเรือค่อนข้างขลุกขลักอยู่บ้าง เนื่องจากระยะ ทางไกล กว่าจะถึงจังหวัดสตูลเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ยังต้องเดินทางต่อไปยังที่พักซึ่งถนนค่อนข้างมืด และป้ายบอกทางไม่ชัดเจน จึงหลงทางไปบ้าง ทำให้ เสียเวลาไปมาก กว่าจะถึงที่พักที่บ้านสนกลาง ซึ่งเป็น หน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาชายฝั่ง (สอ.รฝ.) กองทัพเรือ โชคดีที่มีบ้านพักไม่ต้องเสีย เวลากางเต๊นท์  ที่พักที่นี่นับว่าสะดวกสบายมาก น้ำไฟ พร้อมทำตัวอย่าง ได้สะดวกกว่าที่อื่น ๆ นอกจากนี้ ยังได้ รับการสนับสนุน จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง สตูล ช่วยอำนวยความสะดวกและนำเรือมาช่วยในการ สำรวจครั้งนี้ด้วย

ถึงแม้ว่าทุกอย่างดูจะราบรื่นดี แต่ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น ในวันที่สองของการสำรวจ ขณะที่กลุ่มเก็บแพลงก์ตอนและลูกปลากำลังปฏิบัติงาน บริเวณเกาะเขาใหญ่อยู่นั้นไม้ที่ปลายข้างหนึ่งผูกกับถุงบองโก้และปลายอีกข้างหนึ่งผูกติดกับเสาเรือที่ใช้ลาก ทนแรงต้านของน้ำไม่ไหวจึงหักกลาง ทำให้ถุงบองโก้พร้อมอุปกรณ์ flowmeter ที่ผูกติดปากถุง หลุด หายไป ทุกคนพยายามดำน้ำหากันอย่างเคร่งเครียด แต่ ไม่พบ ทำให้การเก็บตัวอย่างต้องยุติลงการค้นหาได้ ดำเนินต่อไปทุกวันโดยใช้หลักการทั้งทางวิทยาศาสตร์ และไสยศาสตร์ประกอบกัน จนกระทั่งวันกลับ ขณะนั่ง รถมาระหว่างทาง มีโทรศัพท์แจ้งว่าพบถุงบองโก้แล้ว ติดอยู่ที่อวนของชาวบ้าน ห่างจากจุดที่เกิดเหตุไปไกล เกินจุดที่ดำหากัน ไม่คาดว่าจะลอยไปได้ไกลถึงเพียงนั้น  ทุกคนดีใจมากเพราะเป็นอุปกรณ์ที่ยืมมาราคาเป็นแสน หากหายไปคงต้องสละเงินเดือนคนละเดือนมาร่วมด้วย ช่วยกัน  ได้มีโอกาสแวะไปที่กระชังเลี้ยงปลาของ ชาวบ้านที่ตูแตหลำ ตำบลกำแพง อำเภอละงู บนกระชัง มีสาหร่ายสีเขียว Caulerpa corynephora  ชาวบ้านเรียก สาย ขึ้นอยู่เกือบทุกกระชัง  เจ้าของเก็บขายได้ครั้งละ 800-1,000 บาท (กิโลกรัมละ 20บาท) โดยหมุนเวียนเก็บ ได้ทุกสัปดาห์ตลอดปียกเว้นหน้าฝน  นับเป็นรายได้ พิเศษนอกเหนือจากปลาที่เลี้ยง  สาหร่ายชนิดนี้มีขายที่ตลาด เป็นที่นิยมของชาวบ้าน ใช้เป็นผักสดจิ้มน้ำพริก อร่อยมาก

เกาะพระทอง จังหวัดพังงา  เดือนเมษายน 2547 และเดือนเมษายน 2548
ได้ทำการสำรวจ 2 ครั้ง เมื่อเดือนเมษายน 2547 ก่อนเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ (Tsunami) ในเดือน ธันวาคม 2547  และสำรวจอีกครั้งเดือนเมษายน 2548 ภายหลังการเกิดอุบัติภัย

เกาะพระทองเป็นเกาะขนาดใหญ่เกาะหนึ่ง ของจังหวัดพังงา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ บริเวณกลาง เกาะมีทุ่งหญ้าลักษณะเป็นทุ่งโล่งกว้าง เดิมมีกวาง อยู่จำนวนมาก ปัจจุบัน ลดจำนวนลงเหลืออยู่ไม่มากนัก ทางด้านตะวันออกของเกาะเป็นป่าชายเลนซึ่งอุดมสมบูรณ์ ดีมาก ร่องน้ำระหว่างเกาะและแผ่นดินเป็นแหล่งหญ้า ทะเลที่ชาวบ้านยังคงพบพะยูนเข้ามากินหญ้าทะเล บริเวณนี้  จากการสำรวจครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน 2547 พบหญ้าทะเล 6 ชนิด

ภายหลังการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ หญ้าทะเล บริเวณนี้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะมีตัวเกาะ กำบังอยู่  แต่ความแรงของมวลน้ำที่ถูกดันเข้ามาในช่อง นี้ทำให้พื้นบริเวณที่หญ้าทะเลขึ้นอยู่ถูกคลื่นซัดดิน อยู่หลุดหายไป เหลือแต่ลำต้นและส่วนของไหลที่คืบ คลานอยู่ตามพื้นเป็นซากลอยอยู่เหนือพื้น  และบาง พื้นที่หญ้าทะเลถูกดินตะกอนซึ่งถูกพัดมากลบหนา เป็นฟุต ทำให้หญ้าทะเลบางส่วนเน่าตายไป แต่บางส่วนสามารถฟื้นกลับสู่สภาพเดิมได้อีก  หลังจากดิน ตะกอนเหล่านั้น ถูกเคลื่อนย้ายออกไปโดยกระแส คลื่นลมตามธรรมชาติ และหญ้าทะเลบางชนิดสามารถ เจริญแทงทะลุพ้นผิวดินตะกอนขึ้นมาได้   ดังนั้น หญ้า ทะเลบริเวณเกาะพระทอง จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบ จากอุบัติภัยครั้งนี้มากนัก  ส่วนสาหร่ายทะเลที่เคยพบ มากในการสำรวจครั้งแรก หายไปเกือบหมด เหลือ เฉพาะต้นเล็กๆ ที่ติดตามหินและซากปะการัง          

เกาะช้าง เกาะพยามและเกาะใกล้เคียง จังหวัด ระนอง  เดือนเมษายน 2549
หมู่เกาะพยาม เป็นกลุ่มเกาะที่ประกอบด้วย เกาะน้อยใหญ่กว่า 15 เกาะ อาทิ เกาะพยาม เกาะช้าง เกาะสินไห ฯลฯ  อยู่ในทะเลอันดามัน ติดกับชายแดน สาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพพม่า  โดยมีเกาะช้าง เป็นเกาะใหญ่ที่สุด
การสำรวจครั้งนี้ มีทั้งหาดหิน หาดทราย และ ป่าชายเลน  พบสาหร่ายมาก 2 แห่ง บริเวณอ่าวใหญ่บน เกาะช้าง มีสาหร่ายสีน้ำตาล สกุล Sargassum ขึ้นบน โขดหินบริเวณชายฝั่งค่อนข้างมาก คณะสำรวจได้ช่วย กันเก็บตัวอย่างได้มาจำนวนหนึ่ง หลังจากเลือกต้นที่ สมบูรณ์สำหรับใช้ในการจำแนกชนิดแล้ว ยังมีตัวอย่าง เหลืออยู่อีก จึงได้ช่วยกันเด็ดส่วนยอดที่อ่อน ๆ เพื่อนำ กลับมาประกอบอาหารที่ที่พัก ก่อนนำมาทำอาหารต้อง ลวกน้ำและเหยาะปูนแดงเล็กน้อยเพื่อลดกลิ่นคาว และ ช่วยให้กรอบ  หลังจากนั้นจึงนำมายำโดยขอเครื่องปรุงจากครัวเท่าที่มี และบางส่วนนำไปชุบแป้งทอดจิ้มน้ำจิ้ม รับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อย

สาหร่ายสกุล Sargassum มีชื่อท้องถิ่นต่างๆ กัน อาทิ สาหร่ายทุ่น สาหร่ายใบ หรือสาย  ชาวจีนเป็นชาติ ที่รู้จักนำสาหร่ายสกุลนี้มาใช้เป็นยานานกว่าพันปี มาแล้ว โดยใช้เป็นยารักษาคอพอก เนื่องจากมีปริมาณ ไอโอดีนสูง  นอกจากนี้ยังนำ Sargassum ตากแห้งมา ชงน้ำดื่มแก้ร้อนในและลดไข้  ร้านขายยาจีนบางร้าน ในกรุงเทพฯ ยังมี Sargassum แห้งขาย ใช้ชื่อว่า "ไฮเฉ้า"  ในประเทศที่มี Sargassum ขึ้นอยู่หนาแน่น ใช้เป็น วัตถุดิบในการสกัด alginate หรือ algin  ซึ่งเป็นสาร แขวนลอยใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรม อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ยา ฯลฯ  ในน่านน้ำไทย ปริมาณ Sargassum ในธรรมชาติ ลดลงจากเดิมมาก เนื่องจากพื้นที่ชายฝั่งถูกทำลาย ทำให้สาหร่ายมีพื้นที่ ยึดเกาะลดลง รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย

เกาะสินไห เป็นเกาะหนึ่งที่มีป่าชายเลน พบสาหร่ายสีเขียวชนิด Ulva reticulata ขึ้นคลุมพื้น ตลอดแนวชายฝั่งเห็นเป็นสีเขียวสวยงามมาก และยังพบหญ้าทะเลชนิด Halophila ovalis ที่เป็นอาหารของ พะยูนบริเวณนี้ด้วย

เกาะยาวใหญ่ และเกาะยาวน้อย  จังหวัดพังงา  วันที่ 29  เมษายน - 5 พฤษภาคม 2550
เกาะยาวเป็นหมู่เกาะบริเวณอ่าวพังงา ในทะเล อันดามัน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม บรรพบุรุษของชาวเกาะยาวอพยพมาจากจังหวัดตรัง และสตูล  ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกาะยาวใหญ่ มีขนาดใหญ่กว่าเกาะยาวน้อย แต่ที่ว่าการอำเภออยู่ที่ เกาะยาวน้อย
ในการสำรวจ trip นี้ ฝนตกเกือบทุกวัน ทำให้ น้ำขุ่นเก็บตัวอย่างไม่ค่อยได้  เก็บได้เฉพาะบริเวณ ชายฝั่ง จุดสำรวจในครั้งนี้พบแหล่งหญ้าทะเล 3 จุด ได้แก่ อ่าวปากคลอง อ่าวคลองสน และอ่าวปูนเต  ทั้ง 3 แห่ง ลักษณะพื้นเป็นโคลนปนทราย หญ้าทะเลที่ขึ้น อยู่เป็น ชนิดเหมือนๆ กัน  พบรวม 8 ชนิด โดยเฉพาะ ที่อ่าว ปากคลอง เห็นรอยที่พะยูนกินหญ้าทะเล เป็นรอยกว้าง ประมาณ 15 ซม. คดไปคดมา และที่อ่าว ปูนเต มีหอยชักตีนอาศัยอยู่ในแหล่งหญ้าทะเลด้วย แต่ตัว ไม่โตนัก

อ่าวคลองสน เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่มี ขนาดใหญ่  เคยมีโครงการสร้างท่าเรือของเอกชน แต่ ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้าน  ยังมีผืนผ้าเขียนข้อความประท้วงขึงอยู่ตามต้นไม้และหนังสือชี้แจงของชาวบ้าน และของทางการที่เกี่ยวข้องติดอยู่ในศาลาบริเวณ ดังกล่าวในหนังสือชี้แจงของชาวบ้านระบุว่าบริเวณ คลองสนเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ มีพะยูน เข้ามากินหญ้าทะเลเป็นประจำ หากมีการสร้างท่าเรือ จะเป็นการทำลายแหล่งอาหารของพะยูนและทำลาย แหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน  จากการประท้วงอย่าง เข้มแข็งของชาวบ้าน ทำให้ต้องระงับโครงการไว้ก่อน อาจมีการรื้อฟื้นโครงการขึ้นมาใหม่ได้ ถ้าชุมชนไม่ เข้มแข็งและเกิดการแตกแยก เพราะชาวบ้านบางกลุ่ม ให้การสนับสนุน โครงการนี้เนื่องจากต้องการขายที่ดิน

จากการที่ได้เข้าร่วมปฏิบัติงานในโครงการ อพ.สธ. นอกจากจะได้มีโอกาสเก็บตัวอย่างในแหล่ง ที่ยังไม่เคยสำรวจมาก่อน ทำให้ได้เห็นตัวอย่างหลาก หลาย ทั้งชนิดที่เคยมีรายงานไว้แล้วและชนิดที่ยังไม่เคย มีรายงานการพบในประเทศไทยมาก่อน  ตัวอย่างเหล่า นี้จะได้นำไปเก็บรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เกาะและทะเลไทย ที่เขาหมาจอ เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับ เปรียบเทียบและใช้อ้างอิงต่อไป

การทำงานเป็นกลุ่มใหญ่ในโครงการนี้ ทำให้ ได้รู้จักนักวิชาการหลากหลายสาขาจากหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ  ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากนักวิชาการ เหล่านั้น จากการทำงานและจากการรายงานสรุปของ แต่ละกลุ่มในวันสุดท้ายของการปฏิบัติงาน นับว่าเป็น ประโยชน์มาก  นอกจากนั้น ยังได้ฝึกความอดทน ในความยากลำบาก โดนทิ้งติดอยู่บนเกาะบ้าง อดอาหาร บ้าง เรือล่มบ้าง นับเป็นประสบการณ์ที่ทุกคนไม่อยาก ให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ช่วยกันหาวิธีแก้ไข ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องขอขอบคุณคณะของ นสร. ที่มาร่วมงาน ทุกคนทั้งเก่าและใหม่ ที่ให้ความช่วยเหลือ ดูแลพวกเรา อย่างดี และอำนวยความสะดวกในทุกเรื่องที่ร้องขอ ทุกคนมีความอดทน และเหน็ดเหนื่อยกว่าพวกเรา หลายเท่า ตั้งแต่การเตรียมการก่อนออกสำรวจทุกครั้ง ระหว่างปฏิบัติงานจนเสร็จสิ้นภารกิจ  การที่ทหารซึ่ง ปกติทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติได้มาทำงาน ร่วม กับนักวิชาการคงจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่อาจนำไปใช้ ให้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานในหน้าที่บ้าง ไม่มากก็น้อย

ี้เรียบเรียงโดย ศ.กาญจนภาขน์ ลิ่วมโนมนต์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จากหนังสือจากยอดเขาถึงใต้ทะเล ๒ สรรพสิ่งลวนพันเกี่ยว.. สู่ .. ประโยชน์แท้แก่มหาชน


 
 
 
@ 2007 www.tis-museum.org.. All rights reserved.
This site is best viewed with Microsoft Internet Explorer 6.0+ at a minimum screen resolution of 1024 x 768,
A minimum modem connection speed of 56Kbps. Also required Flash plug-in.