นับเป็นอีกครั้งหนึ่งในชีวิตการทำงานที่ภาคภูมิใจและมิอาจลืมเลือน นั่นคือการมีโอกาส
เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ ี้อย่างเต็มตัวไม่ถึงปี แต่ก็มีเหตุการณ์ที่น่าประทับใจมากมาย หนึ่งในเหตุการณ์ที่มิอาจลืมเลือนและจะขอ กล่าวถึง ณ ที่นี้ก็คือ การสำรวจทรัพยากรสิ่งมีชีวิต บริเวณเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ในช่วงปลายเดือน เมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2550 ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2550

 
   


ก่อนอื่น ขอนำทุกท่านไปรู้จักกับเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในทะเลฝั่งอันดามัน เนื่องจากเกาะดังกล่าวจะมีความยาวของตัวเกาะมากแล้ว ตัวเกาะเองยังมีขนาดใหญ่ด้วยจึงเหมาะกับชื่อ “เกาะยาวใหญ่” จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้ ในช่วงที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่มชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย เกาะยาวใหญ่แห่งนี้ก็มีบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิเช่นเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดพังงา ระบบนิเวศชายฝั่งและระบบนิเวศใต้ทะเลถูกทำลายเสียหาย จากที่เคยเป็นหาดทรายสวยงาม กลับเปลี่ยนแปลงไปเป็นหาดโคลน หาดหินที่มีความลาดชันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของเกาะเกือบทั้งหมด จึงเห็นความแตกต่างมากมายเมื่อเทียบกับพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเกาะที่พบว่ามีร้านอาหาร รีสอร์ท และบังกะโล เนื่องจากไม่ได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์นี้

จากชีวิตน้อยๆ ที่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำสุดแต่คลื่นจะพัดพาไป ที่เรารู้จักกันดีในนามว่า “แพลงก์ตอน” นั่นเอง โดยแบ่งออกเป็นแพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งแพลงก์ตอนนับว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับสิ่งมีชีวิต เป็นแหล่งอาหารและพลังงานแก่สัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ลูกปลา ลูกกุ้ง ลูกปู ฯลฯ ล้วนแต่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารทั้งสิ้น จนกระทั่งสัตว์เหล่านี้เจริญเติบโตมาเป็นอาหารของมนุษย์อีกทอดหนึ่ง ทำให้มีการสำรวจแพลงก์ตอนเกิดขึ้นโดยกลุ่มงานสำรวจแพลงก์ตอนในครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนันท์ ภัทรจินดา จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ แต่ติดราชการ ข้าพเจ้า (จิตรา ตีระเมธี) จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จึงต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดสำรวจในครั้งนี้ และมีเพื่อนร่วมทางคือ อาจารย์อภิญญา ปานโชติ จากวิทยาลัยประมงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร คุณณัฏฐวดี ภูคำ และคุณภูริภัทร หุวะนันทน์ ซึ่งเป็นนิสิตปริญญาโทสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามปกติสมาชิกในทีมแพลงก์ตอนมีมากกว่านี้แต่ติดภารกิจทางราชการทำให้เหลือสมาชิกที่ร่วมเดินทางเพียง 4 คน แต่ก็ยังมีโชคดีที่มีพี่ ๆ จากหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) กองทัพเรือ 2 คน ซึ่งเคยร่วมปฏิบัติภารกิจกันมาก่อน มีความคุ้นเคยในขั้นตอนและกระบวนการการทำงาน อัทธยาศัยดี มีน้ำใจ และสิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่ง คือ มีความเชี่ยวชาญเรื่องการขับเรือ ซ่อมเครื่องยนต์เรือ และที่สำคัญเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเก็บตัวอย่างด้วย เมื่อมาถึงตอนนี้ทุกท่านคงจะไม่เข้าใจว่า ทหารเรือช่วยเราทำงานได้ในภารกิจนี้ได้อย่างไร เหมือนกับที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาว่า “มีอะไรในโลกนี้บ้างที่คนเราทำไม่ได้ เสียแต่ว่าไม่คิดจะทำ” จากการที่เขาได้สังเกตุพวกเราทำงานมาก่อนหน้านี้ เช่น การสำรวจแพลงก์ตอนที่เกาะครามและหมู่เกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี และอีกหลายพื้นที่ที่ได้ร่วมงานกัน เขาจึงมีความคล่องแคล่วว่องไวในการใช้เครื่องมือ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะขอเอ่ยถึงบุคคลดังกล่าว เขาคือ พจอ.ปรัชญา ทองแตง และ พจอ. อดิลก ศรีพุ่ม

การทำงานใด ๆ ก็อาจต้องมีอุปสรรคเสมอ ทีมเรารวมถึงทีมสำรวจสาหร่ายและทะเลจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ออกเดินทางจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวันที่ 29 เมษายน 2550 เวลา 01.00 น. โดยรถตู้ประจำคณะประมง มีคุณวิโรจน์ ภู่รัตน์ พนักงานขับรถที่ใจดี ไปส่งที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีคณะสำรวจทรัพยากรสิ่งมีชีวิต จากหลายหน่วยงานมาพร้อมกัน เมื่อถึงเวลาประมาณ 03.00 น. รถปรับอากาศของสวัสดิการทหารเรือนำพวกเรามุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่จังหวัดภูเก็ต ทีมของเรานั่งมาในรถคันที่ 1 ระหว่างการเดินทางมีฝนตกตลอดเส้นทาง และแล้วอุปสรรคแรกที่พวกเราได้พบก็คือ รถคันที่พวกเรานั่งมา ยางรถยนต์ทางด้านหลังขวามือแตกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตอนเช้ามืดเวลาประมาณ 05.30 น. ซึ่งทุกคนที่นั่งมาในรถกำลังนอนหลับสบาย ข้าพเจ้าตื่นแล้วนั่งชมวิวข้างทางอยู่ เสียงดังมาก ตกใจ จึงหันมาปลุกน้องหญิง (คุณณัฏฐวดี) ที่นั่งมาข้าง ๆ เพื่อความพร้อมเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก เนื่องจากรถวิ่งอยู่เลนขวา แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีเสมอ เพราะถนนช่วงนั้นไม่มีรถยนต์วิ่งผ่านมาเลย แต่อุปสรรคก็เกิดขึ้นอีกเมื่อบริเวณนั้นไม่มีบ้านเรือน และที่สำคัญไม่มีร้านปะยางรถยนต์เลย พนักงานขับรถเก่งมาก ตั้งแต่ที่เกิดเหตุการณ์เขาสามารถประคับประคองรถมาเรื่อย ๆ ได้อย่างปลอดภัย เมื่อผ่านร้านปะยางร้านแรกยังปิด อันเนื่องมาจากเช้ามืดและอากาศหลังฝนตกกำลังสบาย พนักงานขับรถต้องประคองรถมาเรื่อย ๆ จนมาถึงร้านที่สอง ก็ปิดเช่นกัน ยังไม่มีวี่แววว่าจะเปิด พนักงานขับรถต้องประคองรถต่อไปเมื่อถึงร้านที่สามเลยตัดสินใจเลี้ยวรถเข้าไปจอดที่หน้าร้านซ่อม (อู่เล็ก ๆ) ทหารเรือ 2 นาย ลงไปเรียกเจ้าของร้าน รบกวนช่วยซ่อมรถให้ เจ้าของร้านคงเกรงใจเพราะเป็นรถของทางราชการ ขณะที่ซ่อมรถของทีมเรา ร้านก็ได้ลูกค้าเพิ่มทันที มีรถบรรทุกเข้ามาซ่อมต่อจากคันของทีมเรา เจ้าของร้านเลยจำต้องเปิดร้านรับลูกค้าตั้งแต่เช้า



จากนั้นมา พวกเราก็เดินทางต่อ แวะพักรับประทานอาหารเช้า และกลางวันตามจุดจอดพักรถ ขณะที่เดินทางเข้าเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปจนถึงภูเก็ต ตลอดทางฝนตกหนักมาก ทัศนวิสัยไม่ดีเลย ทำให้การเดินทางล่าช้าไปมาก กว่าจะได้ลงเรือตรวจการของทหารเรือ เพื่อเดินทางไปยังเกาะยาวใหญ่ก็พลบค่ำพอดี ทุกคนทานข้าวมื้อเย็นบนเรือ พร้อมสายฝนที่ตกพรำ ๆ พวกเรานึกว่าคงไม่เจอปัญหาอีก แต่อุปสรรคที่สองก็เกิดขึ้น ฝนตกหนักมากจนทำให้เรือที่โดยสารมาไม่สามารถเข้าเทียบฝั่งของเกาะยาวใหญ่ได้ต้องใช้เวลานานมาก เมื่อขึ้นฝั่งพวกเราก็ต้องนั่งรถกระบะที่ไม่มีหลังคาเพื่อเดินทางต่อไปยังที่พักซึ่งห่างจากท่าเรือประมาณ 20 กิโลเมตร แต่ทุกคนก็สนุกสนานที่ได้นั่งท้ายรถกระบะท่ามกลางสายฝนพรำ ๆ รู้สึกทั้งหนาวทั้งเย็น ซึ่งในชีวิตประจำวันไม่มีโอกาสเช่นนี้ พอถึงที่พักกว่าที่สัมภาระของทุกคนมาถึงครบตามจำนวนก็ประมาณเที่ยงคืน พวกเราช่วยกันกางเต้นท์ใช้สำหรับพักแรม กว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยพร้อมเข้านอนได้ เวลาก็ล่วงเลยเข้าวันใหม่ (ประมาณตีหนึ่ง) ค่ำคืนนี้ทุกคนหลับเป็นตายเพราะเหนื่อยมาจากการเดินทางตลอดทั้งวัน เตรียมพร้อมร่างกายสำหรับการทำงานที่จะมาถึง ถ้าไม่เหนื่อยมากก็คงได้นอนฟังเสียงคลื่นเพราะที่พักอยู่ติดกับทะเล

วันแรกของการสำรวจแพลงก์ตอน (30 เมษายน 2550) ทีมเราและทหารเรือ (นสร.) รวม 6 ชีวิต นั่งเรือยางมุ่งสู่ทะเลเริ่มสำรวจจากบริเวณฝั่งตะวันตกของเกาะยาวใหญ่ จะมีอุปสรรคบ้างก็ตรงบริเวณแหลมเฮียะ คลื่นสูงมาก แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี วันที่สองของการสำรวจ (1 พฤษภาคม 2550) ทำการสำรวจบริเวณโดยรอบเกาะยาวน้อยซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการทั้งหมด สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของเกาะยาวน้อยอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิน้อยมากเมื่อเทียบกับเกาะยาวใหญ่ ชาวบ้านที่นี่ใจดีมากเช่นเดียวกับชาวบ้านที่เกาะยาวใหญ่ ทีมเราขึ้นฝั่งขอใช้ห้องน้ำ เขายินดีให้ใช้ตามสบาย ซึ่งต่างจากที่อื่นๆ ที่พบเจอมา ช่วงเช้าการทำงานของพวกเราราบรื่นดี แต่มาพบกับอุปสรรคที่สามคือ ในช่วงบ่าย เรือยางที่นั่งมาเกิดเสียอยู่กลางทะเล จะเข้าฝั่งก็ไม่ได้ คลื่นลมแรง ฝกตกหนักสลับกับพรำๆ ตลอดเวลา แต่ในความโชคร้ายก็มีความโชคดีอยู่บ้างคือ พี่ทหารเรือสามารถซ่อมเครื่องยนต์จนใช้การได้ดี เวลาล่วงเลยมาถึง 13.30 น. เลยตัดสินใจขึ้นเกาะซึ่งมีขนาดเล็กมากอยู่กลางทะเลมีพื้นที่ไม่ถึงตารางกิโลเมตร สำหรับพักรับประทานอาหารกลางวัน (ข้าวกล่อง) และผลไม้ บนเกาะแห่งนี้มีเพียงต้นไม้ขนาดเล็กซึ่งไม่สามารถเป็นร่มเงาบังฝนได้เลย ก็ยังดีที่มีพื้นทรายผสมกรวดมีโขดหิน ให้เราได้นั่งพักกันชั่วคราว ทำให้เข้าใจคำว่า “ติดเกาะ” ว่าเป็นอย่างไร ยิ่งโดยเฉพาะเกาะนั้นไม่มีอะไรเลย เมื่อทำการสำรวจต่อจนเสร็จเรียบร้อยแล้วก็กลับสู่ที่พักบนเกาะยาวใหญ่โดยสวัสดิภาพ แต่ยังไม่หมดสำหรับเหตุการณ์ที่น่าตื้นเต้น เกิดขึ้นอีกในค่ำคืน เมื่อนายทหารที่เป็นผู้ดูแลความปลอดภัยของทีมสำรวจทั้งคณะ ได้รับข้อความสื่อสารจากหน่วยงานทหารบนฝั่ง ว่ามีมรสุม และฝนตกหนักมากที่เกาะ นายทหารที่คณะสำรวจรู้จักกันดีในนามว่า “ครูอ้วน” จึงได้ประกาศเสียงผ่านโทรโข่งว่า “ทุกท่านโปรดทราบ คืนนี้ในเวลาประมาณ 20.30 น. อาจจะมีมรสุมและคลื่นสูงมาก ให้ทุกท่านเตรียมตัวให้พร้อม เลือกเอาเฉพาะของมีค่าที่ติดตัวได้ไว้กับตัว เมื่อมีสัญญาณดังขึ้นให้ทุกท่านมาพร้อมกันที่ลานกิจกรรม (บริเวณที่รับประทานอาหารของทุกวัน) เพื่ออพยพขึ้นที่สูง แต่ ณ เวลานี้ให้ทุกท่านเตรียมพร้อม” เมื่อเวลาผ่านพ้นไป น่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทุกคนเข้านอน ทำให้ข้าพเจ้าและทีมสำรวจ ไม่สามารถหลับได้อย่างสนิทใจ พอเผลอหลับไป ถึงเวลาประมาณตีหนึ่ง ได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดินไปเดินมา ทำให้ต้องสะดุ้งตื่นดูว่าเกิดเหตุการณ์หรือเปล่า หรือว่าทหารเขาประกาศแล้วเราไม่รู้สึกตัวเอง เนื่องจากฝนตกตลอดทั้งคืน รู้สึกผวาไปทั้งคืน โชคดีที่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในค่ำคืนนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะโชคดีหรือไม่ในวันพรุ่งนี้กับทีมแพลงก์ตอน

วันที่สามของการสำรวจ (2 พฤษภาคม 2550) สำรวจบริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะยาวใหญ่ สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของเกาะยาวใหญ่ฝั่งนี้ ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิอย่างมาก ในขณะที่ทำการสำรวจก็เกิดเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคที่สี่ของการเดินทางในครั้งนี้ คือ ช่วงเช้าการสำรวจของเราก็เริ่มมีอุปสรรคเนื่องจากฝนตกพรำๆ คลื่นลมแรงกว่าทุกวันที่ผ่าน สมาชิกในทีมเริ่มมีอาการเมาเรือ ทุกคนต้องรีบทำงานเพื่อแข่งกับเวลา และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่เกิดเมื่อคืน วันนี้ทีมสำรวจแพลงก์ตอนได้ประสพจริง เมื่อจู่ๆ คลื่นลมแรง ลมพัดเข้าสู่ฝั่ง ฝนตกหนัก เรือประมงขนาดใหญ่และขนาดเล็กมุ่งหน้าเข้าสู่ฝั่ง แต่เรือยางของเรากับต้องฝ่าพายุฝนนั้นไป เนื่องจากบริเวณชายฝั่งแห่งนี้ไม่มีชายหาดที่จะให้ทีมเราขึ้นฝั่งได้ มีแต่หาดโคลนที่ลึกมาก และมีเพรียงหินมากมายเกาะตามโขดหิน ถ้าเข้าเทียบฝั่งเรืออาจเสียหายได้ จึงต้องตัดสินใจฝ่าพายุเดินหน้าต่อไปเพื่อกลับที่พัก ช่วงเวลานี้ทุกคนอยู่ในอาการที่สงบนิ่ง ในใจของแต่ละคนคงลุ้นเหมือนข้าพเจ้าว่า เมื่อไหร่ฝนจะหยุด เมื่อไหร่เราจะถึงที่พักกัน ดูเหมือนมันจะเนิ่นนานมาก เวลาผ่านไปประมาณเกือบชั่วโมง ทุกอย่างก็เป็นปกติ คลื่นสงบ มีเพียงสายฝนเท่านั้นที่คงตกพรำๆ และแล้วทีมเราก็กลับถึงที่พักโดยสวัสดิภาพ แต่ยังพบอุปสรรคสุดท้ายอุปสรรคที่ห้า ก่อนจบการสำรวจในครั้งนี้คือ พจอ. อดิลก นายทหารที่ขับเรือยาง พยายามหาเส้นทางเพื่อนำเรือเข้าที่พักอยู่นาน เนื่องจากน้ำลงมากห่างจากฝั่งเป็นกิโลเมตร พอเรือจอดสมาชิกทั้งหมดลงจากเรือ ต้องลุยโคลนแค่ลุยโคลนก็เดินลำบากแล้ว ไหนเลยจะต้องลากเรือยางเข้าสู่ฝั่งด้วย มิฉะนั้นเมื่อน้ำขึ้นเรือคงจะเสียหาย และที่สำคัญภายในเรือมีทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์มากมาย รวมถึงตัวอย่างที่สำรวจได้ พวกเราทุกคนโล่งใจที่ผ่านพ้นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าตื้นเต้นและเสี่ยงภัย ทำงานบรรลุตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ส่วนวันที่เหลือที่ยังอยู่บนเกาะแห่งนี้ ทีมแพลงก์ตอนเริ่มจำแนกชนิดแพลงก์ตอนที่พบสำหรับเขียนรายงานขั้นต้นว่าพบแพลงก์ตอนกี่ชนิด มีชนิดใดบ้าง และเตรียมข้อมูลสำหรับนำเสนอในภาพรวมให้แก่คณะสำรวจทั้งหมดและเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมถึงชาวบ้านบนเกาะยาวใหญ่ และเกาะยาวน้อยได้ทราบในค่ำคืนของวันที่ 3 พฤษภาคม 2550 และเตรียมตัวพร้อมเดินทางกลับในวันที่ 4 พฤษภาคม 2550 นับเป็นการสิ้นสุดการเดินทางสำรวจแพลงก์ตอน ณ เกาะยาวใหญ่ และเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา ซึ่งการสำรวจครั้งนี้จะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป

สุดท้ายนี้ ขอกราบขอบพระคุณ นาวาเอกสมชาย กวิลเฟื่องฟูกุล รองผู้บัญชาการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ หัวหน้าชุดการสำรวจในครั้งนี้ ที่อำนวยความสะดวกในทุกๆ ด้าน และให้ความเป็นกันเองกับทุกทีมสำรวจ ขอขอบคุณโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ให้โอกาสทีมแพลงก์ตอนได้เข้ามามีส่วนร่วมสนองพระราชดำริ ในครั้งนี้ ขอขอบคุณทหารเรือทุกนายจากหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ ที่อำนวยความสะดวกในการทำงาน และทหารเรือฝ่ายพลาธิการ จังหวัดพังงา ที่ดูแลในเรื่องอาหารตลอดช่วงเวลาที่ร่วมเดินทางในการสำรวจทรัพยากรฯครั้งนี้ ผู้บริหารระดับท้องถิ่นและชาวบ้านที่กิ่งอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ที่ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในทุกๆ สิ่ง และบุคคลที่สำคัญที่มิอาจลืมและจะขอกล่าวถึงในที่นี้คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนันท์ ภัทรจินดา หัวหน้าโครงการสำรวจแพลงก์ตอนทะเล ที่ให้โอกาสดีดีแก่ข้าพเจ้าเข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจครั้งนี้ ถึงแม้ท่านติดภารกิจทางราชการไม่สามารถร่วมเดินทางมาได้ในครั้งนี้ แต่ในทุกวัน ท่านอาจารย์จะโทรมาถามข่าวคราวทีมงานเสมอ
ขอกราบขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้


บทความโดย : จิตรา ตีระเมธี
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

 
   


 
 
 
@ 2007 www.tis-museum.org.. All rights reserved.
This site is best viewed with Microsoft Internet Explorer 6.0+ at a minimum screen resolution of 1024 x 768,
A minimum modem connection speed of 56Kbps. Also required Flash plug-in.