อ่านต่อหน้าถัดไป

 
         
    เกาะทะเลไทย กับ งานอนุรักษ์  ประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในเขตร้อนทางซีกโลกเหนือ มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน คือด้านอ่าวไทย และด้านทะเลอันดามัน มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 2,815 กิโลเมตร และมีเกาะอยู่ประมาณ 500-600 เกาะ  ลมมรสุมทั้งตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านเป็นประจำ ซึ่งทำให้เกิดฝนตกและความชื้น ประกอบกับความร้อนจากแสงแดดช่วยให้มีความเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological diversity หรือ Biodiversity) ซึ่งหมายถึงการที่มีสิ่งมีชีวิตมากมายหลากหลายสายพันธุ์และชนิดในบริเวณหนึ่งบริเวณใด ทั้งความหลากหลายในเรื่องชนิด (Species diversity) และความหลากหลายของระบบนิเวศ (Ecosystem diversity)   
   


          ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสิ่งที่มนุษย์เราได้รับจากระบบนิเวศวิทยาที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นมีอยู่มีอยู่มากมาย ที่เห็นได้ชัดคือ ประโยชน์ทางตรง  วัสดุธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม สามในสี่ของประชกรโลกนั้นใช้พืชสมุนไพรจากป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว มีอุตสาหกรรมการผลิตยาที่สกัดจากวัสดุธรรมชาติมูลค่านับแสนล้านบาท

          มนุษย์นั้นพึ่งพาอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ นอกจากได้ใช้สิ่งมีชีวิตต่างๆ เป็นยาดังกล่าวแล้ว อาหารทั้งหมดและวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมก็ได้จากสิ่งมีชีวิตที่พบในธรรมชาติหรือที่มนุษย์นำมาเพาะเลี้ยง ปลาส่วนใหญ่ที่บริโภคก็ได้จากธรรมชาติ ป่านั้นเป็นที่รวมสรรพสิ่งมีชีวิตไว้มากมาย พืชเกษตรกรรมหลายชนิดกำเนิดมาจากป่า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือเป็นไม้ประดับ ก็ตาม ตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมาได้นำพืชที่เป็นญาติของพืชเกษตรมาใช้ปรัปปรุงพันธุ์ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น

          ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ได้มีการศึกษาพบว่า พืชพรรณที่ศึกษาพบ ไม่ต่ำกว่า 20,000 ชนิด เห็ดรา มากว่า 1,200 ชนิด ไลเคนส์ มากว่า 300 ชนิด เฟิร์น 633 ชนิด พืชที่มีระบบท่อลำเลียงมากว่า 10,000 ชนิด และกล้วยไม้มากว่า 1,000 ชนิด

   
    

"ตามเกาะต่างๆ มีพืชพรรณอยู่มาก แต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย"

          พระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536  ถือได้ว่าเป็นการจุดประกายของการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามเกาะต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยกองทัพเรือซึ่งมีความพร้อมทั้งหน่วยงานและพื้นที่ ได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริในงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และใช้พื้นที่เกาะแสมสารและเกาะข้างเคียง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการฯ เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2541 เป็นต้นมา โดยมีคณะปฏิบัติงานวิทยากร อพ.สธ. ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการหลากหลายสถาบันร่วมปฏิบัติงานด้านวิชาการนอกจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2541 เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการที่เกาะแสมสาร ความว่า

"ให้ศึกษาตั้งแต่ยอดเขาจนถึงใต้ทะเล"

"ให้มีการรวบรวมพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งพืชบนดินและพืชน้ำ โดยเน้นระบบนิเวศแบบภาพรวมทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงสัตว์ต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ได้รวมเอาเกาะเล็กๆ รอบเกาะแสมสารเข้าในโครงการในลักษณะผสมผสาน เนื่องจากอยู่ใกล้กันและมีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ด้าน ให้ทำการสำรวจทั้งด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา แร่ธาตุ ฯลฯ ไปพร้อมๆ กัน"

          ดังนั้น การปฏิบัติงานด้านการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพและกายภาพของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กองทัพเรือ จึงได้มีการปฏิบัติงานทางด้านวิชาการหลายสาขา ตั้งแต่ด้านธรณีวิทยา พืช สัตว์ จุลชีวัน สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล รวมถึงด้านสมุทรศาสตร์ และอุตุนิยมวิทยา รวมแล้วมากกว่า 20 สาขา

          โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากกพระราชดำริ กองทัพเรือ ได้กำหนดแผนงานในการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพและกายภาพตามเกาะต่างๆ เป็นประจำทุกปี ประกอบด้วยการสำรวจเกาะในพื้นที่หมู่เกาะแสมสาร ทุก 2 เดือนต่อครั้ง และการสำรวจเกาะในภูมิภาคอื่นในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ปีละ 2 ครั้ง

อ่านต่อหน้าถัดไป

บทความโดย : นาวาเอกอาภากร อยู่คงแก้ว ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย
ที่มา: หนังสือจากยอดเขาถึงใต้ทะเล 3 ทรัพยากรไทย ภูมิปัญญาไทย ผันสู่วิถีใหม่ในฐานไทย สู่เศรษฐกิจพอเพียง

 
   


 
 
 
@ 2007 www.tis-museum.org.. All rights reserved.
This site is best viewed with Microsoft Internet Explorer 6.0+ at a minimum screen resolution of 1024 x 768,
A minimum modem connection speed of 56Kbps. Also required Flash plug-in.